ลูกเหม็น
ชื่อทางเคมี : NAPHTHALENE
สูตรเคมี : C10H8
ลูกเหม็น เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่นในห้องน้ำ ลูกเหม็นมีทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ดและชนิดผลึก ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่า “แนพทาลีน (naphthalene)” มากกว่าร้อยละ 99 โดยน้ำหนัก สารชนิดนี้สามารถระเหิดหรือเปลี่ยนสถานะที่อุณหภูมิห้องจากของแข็งกลายเป็นไอที่มีกลิ่นป้องกันแมลงได้ แนพทาลีนเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ พบได้ในถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และเกิดจากการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไม้ บุหรี่ ปัจจุบันนอกจากมีการนำแนพทาลีนไปใช้เป็นลูกเหม็นกันแมลงแล้ว ยังมีการผลิตแนพทาลีนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลาสติกพีวีซี เรซิน สารฟอกหนัง สีย้อม และสารฆ่าแมลงบางประเภทอีกด้วย
คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี : ของแข็งสีขาว มีกลิ่นเฉพาะตัว เปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิห้อง ไอระเหยของแนพทาลีนสลายตัวได้ในอากาศด้วยแสงแดดและความชื้น แนพทาลีนทำปฏิกิริยารุนแรงกับตัวออกซิไดซ์แรง ไนโตรเจนออกไซด์
ประโยชน์และกลไก : ไอจากการระเหิดมีกลิ่นและฤทธิ์ไล่แมลง และกลบกลิ่นอื่นๆ จึงใช้ป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่น
ความเป็นพิษ
โดยปกติแนพทาลีนสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ โดยการหายใจเอาอากาศที่มีไอระเหยของแนพทาลีนจากเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น หรือสัมผัสกับลูกเหม็นหรือเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น รวมไปถึงจากการกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจากอุบัติเหตุ เช่น ในเด็ก ในชีวิตประจำวันที่มีการสูดดมไอของแนพทาลีนที่ค่อยๆ ระเหิดออกมาจากก้อนลูกเหม็นเข้าไปในปริมาณไม่มาก และไม่ต่อเนื่องก็อาจไม่แสดงอาการของการเกิดอันตราย อย่างไรก็ตามการได้รับแนพทาลีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลต่อสุขภาพดังนี้
-
การสัมผัสทางผิวหนัง : อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง.
-
การสัมผัสทางตา :
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เป็นพิษต่อเรตินา ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
การสูดดม :
อาจเป็นอันตรายหากสูดดม สารนี้อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่แผ่นเยื่อเมือก และบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
การกลืนกิน :
ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เมื่อแนพทาลีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าได้ภายใน 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น อาจมีเลือดออกในปัสสาวะ และอาจเสียชีวิตได้