หนอนปลอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphula depuctalis (Guence)
ลักษณะการทำลาย
หนอนปลอกมักระบาดทำลายข้าวในท้องที่ต่างๆแบบกระจัดกระจาย มีการระบาดเป็นครั้งคราว ส่วนมากจะระบาดในระยะข้าวแตกกอและออกรวง แต่จะเสียหายรุนแรงในระยะหลังปักดำใหม่ๆ ไม่ค่อยพบในระยะกล้า การทำลายเกิดขึ้นโดยตัวหนอนกัดกินปลายใบเพื่อทำปลอกหุ้มตัว ตัวหนอนที่ฟักออกมาใหม่ๆจะกัดกินผิวใบอ่อนๆก่อน เมื่อโตขึ้นจึงกัดกินใบแก่โดยใช้หัวโผล่ออกมากัดกินผิวบนของใบ ทำให้เกิดรอยกะขาวเป็นทาง ตัวหนอนสามารถเคลื่อนย้ายไปทำลายข้าวต้นอื่นๆ โดยอาศัยปลอกลอยตามน้ำไป เมื่อลมพัดไปแตะข้าวต้นใหม่ หนอนจะคลานขึ้นไปกัดกินส่วนของใบข้าว เมื่อมีการระบาดรุนแรงจะทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรนและตายในที่สุด บางครั้งต้องปักดำซ่อม เพราะข้าวตายเป็นบริเวณกว้างขวาง การระบาดอาจเกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ถึงพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นร้อยๆไร่ได้ (วีรวุฒิ กตัญญูกุล, 2526)
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนชอบเล่นไฟ สีขาว มีรอยด่างสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำเป็นแถบ 2-3 แถบตามขอบปีก ตัวผู้จะตายหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียวางไข่ในเวลากลางคืน หลังจากเป็นตัวเต็มวัยแล้ว 2 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 4-8 วัน ไข่จะถูกวางเป็นแถว 1 หรือ 2 แถว ชิดกันบนผิวใบหรือก้านใบใกล้ระดับน้ำ ไข่กลุ่มหนึ่งมี 10-20 ฟอง ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่เฉลี่ย 50 ฟอง ไข่มีลักษณะกลม แบน ผิวหน้าเรียบ สีเหลืองอ่อน ก่อนฟักเป็นตัวจะมีสีเข้มขึ้น และมีจุดสีม่วง 2 จุด ซึ่งต่อมาเป็นตาของตัวหนอน ระยะไข่ 2-6 วัน เฉลี่ย 4 วัน (Chantaraprapha and Litsinger, 1986) ตัวหนอนในระยะแรกมีสีครีมซีดๆ หัวสีเหลืองอ่อน ตัวหนอนตั้งแต่ระยะที่ 2 เป็นต้นไปจะมีสีเขียว และเมื่อโตเต็มที่จะมีสีเขียวซีดๆ ผิวค่อนข้างใส หัวและคอมีสีน้ำตาลอ่อน ตัวหนอนมีชีวิตแบบ semi-aquatic โดยมีเหงือก 6 แถวใช้หายใจ แม้ว่าข้างลำตัวจะมีรูหายใจ 5 คู่ แต่ก็ไม่ทำงาน ตัวหนอนจะเริ่มกัดกินอาหารหลังจากฟักเป็นตัวและใช้เวลาเพียง 2 วัน ก็ทำปลอกหุ้มและอาศัยอยู่ในนั้น โดยตัวหนอนจะเคลื่อนที่ไปยังปลายใบข้าวที่อ่อน กัดใบตรงด้านหนึ่งของเส้นกลางใบ แล้วใช้สารที่สกัดออกมาจากร่างกายห่อเอาใบจากริมขอบใบทั้ง 2 ข้างเข้าหากันเป็นรูปหลอดแก้ว ตัวหนอนจะสลัดปลอกทิ้งเมื่อมีการลอกคราบแต่ละครั้ง ตัวหนอนลอยไปตามน้ำได้ เมื่อกระทบต้นอื่นก็จะติดอยู่ตามบริเวณนั้นเหนือระดับน้ำเล็กน้อย มันจะเข้าดักแด้ในปลอกที่หุ้มนั้น ดักแด้ใหม่ๆสีครีม ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ดักแด้จะออกมาเป็นตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน โดยออกมาทางรูเปิดส่วนบนของปลอกนั้น ระยะดักแด้ประมาณ 1 สัปดาห์
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
ปกติระบาดในเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน พบระบาดทำลายทั้งต้นข้าวและต้นหญ้าในนา หลังจากเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว มันจะเคลื่อนย้ายไปแปลงหญ้าข้างเคียง ชั่วอายุแต่ละชั่วจะอยู่ซ้อนๆกัน มีรายงานว่ามีการระบาดในประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจีนและญี่ปุ่น
การป้องกันและกำจัด
1. ใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อตัวเต็มวัยมาทำลาย
2. เทน้ำมันก๊าดลงในน้ำเพื่อฆ่าตัวหนอนและดักแด้
3. พ่นสารฆ่าแมลงดังนี้
3.1 fipronil (แอสเซ็นด์ 5% เอส ซี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
3.2 quinalphos (เอคาลักซ์-25 25% อีซี) อัตรา 65 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
3.3 alphacyper-methrin BPMC (ฟาสแทค-ดี 41% อีซี) อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
3.4 monocrotophos(อโซดริน, นูวาครอน 60% ดับบลิวเอสซี) อัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร